เมืองพุมเรียงเติบโตขึ้น อย่างรวดเร็ว มีผู้คนจากถิ่นอื่นเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะชาวมุสลิม ที่มีถิ่นฐานเดิมที่สงขลา ปัตตานี เมืองไทรบุรีในมาเลซีย ชาวมุสลิมที่พุมเรียงแต่เดิมนั้นชำนาญการทำประมง ส่วนสตรีมุสลิมก็มีฝีมือทางด้านทอผ้า และผ้าไหมที่ใช้ในพิธีต่างๆ การเข้ามาอยู่ร่วมกันของกลุ่มมุสลิมจากพื้นเพต่างๆกัน ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม และถ่ายทอดเอกลักษณ์เดิมที่มีมาก่อนให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการทอผ้าไหมยกดิ้นเงินดิ้นทอง หรือยกไหม ซึ่งต่างจากผ้าไทยในสมัยนั้นการทอผ้าไหมพุมเรียง เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ของกลุ่มคนไทยมุสลิมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหัวเลน หมู่ 2 บริเวณริมคลองพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้สืบทอดมาหลายชั่วคนตั้งแต่สมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธพื้นเมืองในท้องถิ่น ผ้าไหมพุมเรียงมีลักษณะเด่นที่ต่างจากผ้าไหมของภาคอื่นๆ คือ การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น โดยมีผ้าทอยกที่มีชื่อเสียง คือ ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น