เป็นถ้ำที่มีความมหัศจรรย์ทางด้านชีววิทยาอีกแห่งหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านอุไร ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนลูกโดดรูปทรงยาว วางตัวในเเนวเหนือ ใต้ มีความยาวประมาณ 600 เมตร มีความกว้างประมาณ 100 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันโดยรอบ ยอดเขาส่วนที่สูงที่สุดประมาณ 90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นถ้ำอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับระดับพื้นดินภายนอกถ้ำ พบปากถ้ำในเเนวเขานี้จำนวนมาก ปากถ้ำหลักด้านล่างมีอุโมงค์ถ้ำลอด (ผ่านภูเขา) ยาวประมาณ 50 เมตร กว้าง 25 เมตร สูง 4 เมตร ปากถ้ำสองด้านทะลุหากันมีลักษณะคล้ายอุโมงค์วางตัวอยู่ในแนวประมาณ N60E และมีธารน้ำไหลจากปากถ้ำด้านตะวันออกไปออกปากถ้ำทางด้านตะวันตกส่วนด้านนอกมีบันไดที่ปากทางขึ้นไปสู่ถ้ำด้านบน มีสะพานให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมภายในถ้ำได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อเข้าไปจะได้พบกับหินงอกหินย้อยที่สวยงาม รวมทั้งมีจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามอีกแหล่งหนึ่งของอุทยานธรณีสตูลอีกด้วย มีเรื่องเล่าตำนานว่าเมื่อก่อนนี้บริเวณนี้เป็นทะเล และมีเรือสำเภามาจอดต่อมากลายเป็นหินรูปเรือสำเภาอยู่ในถ้ำ เรือสำเภามีทรัพย์สินมีค่า ทองคำมากมาย ถูกนำมาเก็บไว้ในถ้ำอุไร ซึ่งคาดว่า “อุไร” มีที่มาจากภาษามาเลย์ซึ่งแปลว่า “ทอง” โดยชาวบ้านเล่าว่าเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีทหารญี่ปุ่นลืมทองคำไว้บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ ต่อมามีชาวบ้านไปพบ เลยตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านอุไร เมื่อมีการค้นพบถ้ำ จึงเรียกตามชื่อหมู่บ้านว่า ถ้ำอุไรทอง โดยมีถ้ำที่สวยงามอยู่ 3 ถ้ำ คือ ถ้ำอุไรทอง เป็นถ้ำใหญ่ที่สุด มีลักษณะเปิดทั้ง 2 ด้าน มีขนาดประมาณ กว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 4 เมตร เป็นเหมือนอุโมงค์เป็นถ้ำที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เป็นแหล่งที่พบกระดูกมนุษย์โบราณและกระดูกสัตว์ เช่น แรด ม้าลาย จุดที่พบอยู่ห่างถ้าไปทางทิศเหนือ 25 เมตร มีอายุประมาณ 4 5 พันปี ถ้ำสำเภา ประกอบด้วยถ้ำสำเภาเหนือมีขนาดประมาณ กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 50 เมตร และถ้ำสำเภาใต้ มีขนาดประมาณ กว้าง 20 เมตร ยาว 35 เมตร สูง 35 เมตร พบแหล่งหอยโบราณ และมีเสาหินย้อยที่สวยงาม ถ้ำลูกสาว มีขนาดประมาณ กว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร สูง 5 เมตร อยู่ทางทิศเหนือของถ้ำสำเภาประมาณ 15 เมตร อยู่สูงกว่าถ้ำสำเภาประมาณ 10 เมตร เป็นแหล่งพบกระดูกสัตว์โบราณ เช่น ฟันกรามแรด กรามหมูป่า กีบควาย หอยน้ำเค็ม หอยโข่ง หอยขมและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น มีเรื่องเล่าว่ารูตรงเสาหินของถ้ำลูกสาวสมัยก่อนชาวบ้านหนีสงครามมาหลบอยู่ในถ้ำแล้วขาดแคลนอาหารต่อมามีการทำพิธีขออาหารก็มีอาหารหย่อนลงมา (กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th)