เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกันเรียงกันในแนวทิศเหนือ ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ ส่วนวิหารที่ก่อด้วยอิฐซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพระยาอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร และที่วิหารก่ออิฐทางด้านทิศใต้มีทับหลังรูปพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่งเหนือโคนนทิ ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่นทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ และยังพบพระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผา และพระพุทธรูปนาคปรกที่สมบูรณ์และสวยที่สุดอีกด้วย จากหลักฐานลวดลายที่ปรากฏบนหน้าบัน ทับหลัง และโบราณวัตถุต่าง ๆ โดยเฉพาะจารึกที่หลืบประตูปราสาทสระกำแพงใหญ่ สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน