พิพิธภัณฑ์สิรินธร 
[Sirindthon Museum]

Sirindthon Museum แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา/เยาวชน/วัยรุ่น/


เปิดGoogle map

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัดสักกะวันและได้นำมาเก็บรักษาไว้ จนปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นายวราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาและคณะจากกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาบริเวณนี้ และพบว่ากระดูกดังกล่าวเป็นซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย ฝรั่งเศสได้นำกระดูกเหล่านั้นจำนวน ๓ ท่อน ไปศึกษาพบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงได้สำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัวยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี แหล่งขุดค้นแห่งนี้พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า ๗๐๐ ชิ้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืชอย่างน้อย ๗ ตัว โดยซากไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus sirindhornae) โดยที่กระดูกยังคงเรียงรายต่อกันอยู่ในสภาพนอนคว่ำ กระดูกสันหลังตั้งขึ้น มีซี่โครงออกสองข้างลำตัว กระดูกสะโพกทุกชิ้นอยู่ในตำแหน่งเดิม กระดูกหางเรียงม้วนเป็นวงกลมพาดขึ้นไปกลางหลังและยาวต่อไปจนกระทั่งถึงปลายหาง แต่ขาท่อนหลัง ขาหน้าข้างขวา คอ และส่วนหัวหลุดกระจายออกไป จากการค้นพบครั้งสำคัญนี้ กรมทรัพยากรธรณีจึงได้ก่อสร้างอาคารครอบแหล่งขุดค้นไว้ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาของไทย และนำไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม “สิรินธร” เป็นชื่อพิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทำการทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๐ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สิรินธร แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๘ โซน ได้แก่ โซนที่ ๑ กำเนิดโลกและจักรวาล โซนที่ ๒ กำเนิดสิ่งมีชีวิต โซนที่ ๓ มหายุคพาลีโอโซอิก (วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ) โซนที่ ๔ มหายุคมีโซโซอิก (โลกแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์) แบ่งโซนย่อยจัดแสดงเรื่องราวไดโนเสาร์ไทย โซนที่ ๕ วิถีชีวิตไดโนเสาร์ โซนที่ ๖ ปริศนาการสูญพันธุ์ และคืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ โซนที่ ๗ มหายุคซีโนโซอิก (มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และ โซนที่ ๘ เรื่องราวของมนุษย์ นอกจากนี้ยังสามารถชมหลุมขุดค้นซึ่งมีซากฟอสซิลจริงที่ขุดค้นพบเป็นครั้งแรกในบริเวณภูกุ้มข้าวได้อีกด้วย พิพิธภัณฑ์สิรินธร

 Visitor:35