วัดพระยืน 
[Wat Phrayuen]

Wat Phrayuen แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ศาสนสถาน (วัด/โบสถ์/มัสยิด ฯลฯ)

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ภาคเหนือ กลุ่มครอบครัว/


เปิดGoogle map

ในอดีตเคยรุ่งเรืองมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านพระยืน หมู่ที่ 1 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ 2 งาน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ชื่อ “ วัดพระยืน ” เรียกตามปูชนียวัตถุสำคัญที่อยู่ในวัด คือพระยืน ( พระพุทธรูปยืน ) ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับพระยืนนี้ ได้มีการกล่าวไว้ในหนังสือตำนานหลายเล่ม อาทิ ในหนังสือ ตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึงตอนที่พระญากือนาได้อาราธนานิมนต์พระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย เพื่อมาเชียงใหม่ โดยได้พักที่วัดพระยืน ในเมืองหริภุญชัย ราว พ.ศ. 1912 ซึ่งขณะนั้นได้มีพระยืน 1 องค์อยู่ก่อนแล้ว แต่บริเวณนั้นเป็นป่า พระญากือนาจึงให้คนไปแผ้วถาง แล้วสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก 3 องค์ โดยองค์หนึ่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ และอีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ และสร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 องค์นี้ไว้ เจดีย์วัดพระยืนเป็นศิลปะพุกาม สร้างบนยกพื้นสูงเป็นชั้นลดหลั่น ลานประทักษิณชั้นบนมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม เรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมมีจระนำยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาลาดรองรับชุดฐานซ้อนต่อยอดทรงระฆัง เจดีย์องค์ใหม่ที่สร้างครอบของเดิมนี้ เจ้าหลวงอินทยงยศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ให้หนานปัญญาเมืองชาวบ้านหนองเส้ง ซึ่งเป็นช่างประจำคุ้มหลวง เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง จังหวัดลำพูนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและพุทธศาสนา ซึ่งจากตำนานในอดีตกล่าวว่าเป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินล้านนา มีวัดวาอารามและโบราณสถานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุหริภุญไชย วัดจามเทวี วัดมหาวัน วัดกู่ละมัก แต่มีอยู่วัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยเมื่อสร้างเมืองหริภุญชัยคือ “วัดพระยืน” หรือ “วัดอรัญญิการาม” ด้วยวัดพระยืนเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันออกของเมือง มีการขุดพบหลักศิลาจารึก ในวัดพระยืน สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 600 กว่าปีสร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสุมณะเถระกับพระยากือนาได้ร่วมกันก่อสร้างพระพุทธรูปยืนขึ้นอีก 3 องค์ ศิลาจารึกนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยเสด็จมาทอดพระเนตรและได้นำกระดาษสาและแท่งคาร์บอนฯมาขูดเพื่อปรากฏตัวอักษรนำไปศึกษาซึ่งพระองค์ให้ความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ภายในวัดพระยืนยังมีพระอุโบสถที่เก่าแก่ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาเมื่อปี พ.ศ.1929 ต่อมาพระมงคลญาณมุณี เจ้าคณะจังหวัดลำพูนและเจ้าอาวาสวัดพระยืนได้ทำการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2472 ซึ่งปัจจุบันพระอุโบสถแห่งนี้ยังปรากฏภาพเขียนสีที่บริเวณด้านข้างและมีลวดลายที่หน้าบันอย่างสวยงาม ซึ่งคงสภาพเดิมเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ด้วยคุณค่าของศิลปกรรมเก่าแก่ที่มีการอนุรักษ์รักษาไว้เป็นอย่างดีของชาวบ้านวัดพระยืน อีกทั้งในบริเวณวัดยังเงียบสงบร่มรื่น จึงไม่แปลกใจเลยที่วัดพระยืนแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดที่หลายคนใฝ่ฝันเดินทางมาศึกษาถึงประวัติและเยี่ยมชมความสวยงามของศิลปกรรมสมัยเมื่อ 600 กว่าปีก่อนอย่างมากมาย

 Visitor:16