ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังจันทน์ สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบไปด้วย พระปรางค์ ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด มีพระอุโบสถและพระวิหารตั้งอยู่ด้านข้างเป็นแนวแกนคู่ขนานกับพระปรางค์ ใช้ศิลาแลงและอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง โดยใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เหลือของพระปรางค์พบว่าฐานเป็นฐานเขียงหน้ากระดาน 2 ชั้นต่อ จากนั้นเป็นฐานย่อมมุมทั้ง 4 ด้าน มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก ฐานก้วาง 27 เมตร ส่วนยอดพังทลายหมด จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเช่น เศษเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หมิง จึงกำหนดอายุโบราณสถานในราวพุทธศตวรรษในราว 20 21 หรือสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยอยุธยาตอนต้น พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระปรางค์ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา มีขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 40 เมตร เป็นอุโบสถขนาด 9 ห้อง ผนังหนา 1 เมตร ประกอบด้วยมุขหน้าและมุขหลัง มีบันไดทางด้านทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของพระอุโบสถบันไดด้านหลังอยู่บริเวณด้านข้างมุขทั้งสองด้าน มีเสาร่วมใน 2 แถว เสาคู่กลางก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน โครงสร้างหลังคาน่าจะเป็นหลังคาแบบลด 5 ชั้น แบบเดียวกับวิหารพระพุทธชินราช จากการขุดแต่งพบว่า พื้นปูด้วยหินชนวนขนาด 45X45 ซม. ประมาณครึ่งหนึ่งของพระอุโบสถ ส่วนด้านหน้าปูด้วยอิฐ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนใบเสมาและฐานใบเสมาเป็นรูปแปดเหลี่ยมขนาดกว้าง 1.3 เมตร มีการขยายฐานอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่นดียวกับพระวิหาร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากเศษเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 21 หรือสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยอยุธยาตอนต้น พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระปรางค์ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา มีขนาดกว้าง 19.50 เมตร ยาว 49.50 เมตร เป็นวิหารขนาด 9 ห้อง ประกอบด้วยมุขหน้า และมุขหลังมีบันได ก่อด้วยศิลาแลง ทางด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าวิหาร ส่วนบันไดด้านหลังน่าจะอยู่บริเวณมุขทั้งสองด้าน เสาข้างละ 3 แถว จากการขุดแต่งพบว่า มีการขยายมา 3 ครั้ง เพื่อรองรับเครื่องบนหลังคา ซึ่งน่าจะเป็นหลังคาลด 5 ชั้น แบบเดียวกับวิหารพระพุทธชินราช ส่วนกระเบื้องมุงหลังคา จากการขุดแต่งพบว่ามี 2 แบบ คือกระเบื้องแบบสุโขทัย และกระเบื้องกาบกล้วยแบบอยุธยา ส่วนเพื้นที่อาคาร หลักฐานจากการขุดแต่งพบว่าปูพื้นด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวซึ่งพบโดยรอบฐานชุกชี มีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากเศษเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 21 หรือสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยอยุธยาตอนต้น