วัดป่าสัก ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงแสนไปทางทิศตะวันตก ห่างจากประตุฃูเมืองเชียงแสนไปประมาณ 200 เมตร ตามตำนานกล่าวว่า พญาแสนภูทรงสร้างพระเจดีย์ที่วัดป่าสัก เพื่อบรรจุพระโคปะกะธาตุ (พระบรมธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวา) ที่นำมาจากเมืองปฏลีบุตร ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.1883 และทรงโปรดเกล้าฯให้ปลูกต้นสักจำนวน 300 ต้น จึงได้เรียกว่า "วัดป่าสัก" พร้อมทั้งกุฏิถวายแด่พระพุทธโฆษาจารย์จำพรรษา และสถาปนาให้เป็นสังฆราชในระยะนั้น ปัจจุบันวัดป่าสักเป็นวัดร้างและเป็นโบราณสถานที่สำคัญจองเมืองเชียงแสน มีซากเจดีย์ และตัวอาคารอยู่ภายในบริเวณรวม 7 แห่ง โบราณที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงปราสาทยอดทรงระฆังแบบห้ายอด มีฐานทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป สลับกับรูปเทวดา โดยเฉพาะรูปแบบทรงสถาปัตยกรรมส่วนฐาน ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุที่ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆัง และส่วนมณฑปถึงส่วนยอด ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์เชียงยืน จังหวัดลำพูน มีเจดีย์องค์เล็กประดับอยู่ที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา รูปสัตว์ เช่น ลายเกียรติมุข สิงห์ มกร นาค และรูปบุคคลอย่างวิจิตรบรรจง กล่าวได้ว่า เป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งในกลุ่มศิลปะล้านนา