เป็นวัดที่สร้างสมัยเดียวกับวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ปี พ. ศ. 1900 เดิมชื่อวัดป่าแก้ว เป็นที่ปฏิบัติธรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวิปัสสนาธุระ ต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กเท่าปลายนิ้วจากในเจดีย์ สร้างจากแก้วมีหลายสีส่องประกายสวยงามเมื่อต้องแสงไฟ จึงเรียกติดปากกันมาว่าวัดพระแก้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 สถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่สำคัญภายในวัดได้แก่ เจดีย์ ลักษณะเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูง ผสมกับเจดีย์ทวารวดีตอนปลาย สร้างแบบสอปูน เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพที ฐานเขียง และฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ มีพระพุทธรูปปั้นแบบนูนสูงประดับทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 19 มีอายุประมาณ 600 700 ปี ดูตามลักษณะก่อสร้างจะเห็นว่าคนโบราณได้แฝงคติธรรมไว้กับการก่อสร้าง คือฐาน คือฐานสี่เหลี่ยมหมายถึงพระพุทธศาสนามีอริยสัจสี่เป็นฐาน โดย มีเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพานซึ่งแทนด้วยยอดเจดีย์ มีฐานสูงแปดเหลี่ยมหมายถึงอริยมรรคมีองค์แปด ปล้องไฉน 12 ปล้องหมายถึงปฏิจจสมุทปบาท สิ่งที่อาศัยกันเกิดเหมือนลูกโซ่ ความสูง 37 เมตร คือโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ อันประกอบด้วย สติ ปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 85 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และอริยมรรคมีองค์ 8 พระสถูป เจดีย์แต่เดิมมีเจดีย์บริวารรายล้อมอยู่รอบข้างหลายสิบองค์ หลวงพ่อฉาย เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงสีแดง อยู่ในวิหารด้านหน้าพระเจดีย์สี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 800 ปี ด้านหลังหลวงพ่อฉายมี “ ทับหลัง “ ซึ้งแกะสลักติดกับองค์อยู่ชิดกำแพงวิหารมาก เป็นรูปช้างนอนหงายอยู่บนแท่น ส่วนบนสุดเป็นรูปพระอินทร์หรือพระศิวะกำลังหลั่งน้ำมนต์มีทางน้ำมนต์ไหลถึงตัวช้างที่นอนหงายบนแท่น หลวงพ่อพลอย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง 2 เมตร เดิมอยู่วัดทัพย่าน ตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี ซึ่งเป็นวัดร้างประชาชนชาวบางน้ำพระได้ร่วมใจกันอัญเชิญใส่เกวียนมา และใช้แพข้ามแม่น้ำน้อยมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อลอย” วัดพระแก้ว ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้ห่างจากวัดมหาธาตุประมาณ 3 กม. อยู่ติดกับคลองชลประทาน ปัจจุบันวัดพระแก้วอยู่กลางทุ่งนามีพระเจดีย์เหลี่ยมเป็นหลักของวัด ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสูงตั้งอยู่บนฐานเรือนธาตุแบบลอดท้องไม้ ซึ่งมีพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูง ประดับอยู่ทั้งสี่ด้านมีเจดีย์ทิศต่อจากฐานเรือธาตุ ตอนบนทั้งสี่มุม ต่อจากฐานเรือนธาตุจะถึงฐานเจดีย์เป็นฐานสูงแปดเหลี่ยม มีซุ้มจรนำ 4 ทิศ ต่อจากฐานสูงเป็นบัวลูกแก้วและบัวกลางจนถึงองค์ระฆังลักษณะเด่นขององค์เจดีย์คล้ายเจดีย์สมัยสุโขทัยเมื่อได้พิจารณาดูแล้วจึงเห็นว่าเจดีย์แบนี้น่าจะได้รับอิทธิพลร่วมระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศรีวิชัยมาผสมผสานกันเป็นแน่ แม้ในสมัยอยุธยาจะมีเจดีย์ทรงสูง เช่น เจดีย์รายรอบพระวิหารก็มิได้มิลักษณะเช่นนี้ มีพระพุทธรูปประดับทั้ง 4 ด้าน บนฐานชั้นที่ 3 ในซุ้มตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปั้นปางถวายเนตรประทับยืน ขนาบทั้งสองข้างด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัย ลักษณะพระพุทธรูปน่าจะเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้นมากกว่าเพราะมีเค้าโครงศิลปะสุโขทัยผสม ที่เห็นได้ชัดคือพระรัศมีเป็นเปลวเพลิงถัดแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงขึ้นไปเป็นแท่งแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายพระเนตรประทับยืนทั้งสี่ทิศ แต่ไม่มีพระขนาบข้างคงเป็นองค์เดียวที่เหนือขึ้นไปก็ย่อเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง บางทีอาจจะมีซุ้มประทับนั่งอยู่ตอนบนด้วยก็ได้ แต่หักพังลงหมดแล้วในปัจจุบัน ความเก่าแก่ของโบราณสถานในจังหวัดชัยนาทที่หลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติอันล้ำค่า และเป็นที่หวงแหนของชาวจังหวัดชัยนาททุก ๆ คนที่ต้องการที่จะอนุรักษ์และทำนุบำรุงรักษาไว้สืบต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตต่อไป ดังนั้นการท่องเที่ยวโบราณสถานของเมืองชัยนาทควรเป็นการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาความรู้เสียมากกว่าการท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานและควรท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก