ตั้งอยู่ในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวันราธิวาส ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์จะส่งเสริมอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในภาคใต้ ดังนั้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2528 จึงทรงเริ่มดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อมาหน่วยราชการหลายหน่วยได้เข้าร่วมดำเนินการสนับสนุน เช่น กองทัพภาคที่ 4 ช่วยถมที่และปรับพื้นที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยช่วยจัดสร้างอาคารฝึกอาชีพ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานสนับสนุนวัสดุครุภัณฑ์ในการฝึกอบรม กรมวิทยาศาสตร์บริการจัดวิทยากรไปทำการฝึกอบรม และกรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธินค่ายจุฬาภรณ์สนับสนุนการขนส่งผลิตภัณฑ์จากศูนย์ฯ ไปยังมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่สวนจิตรลดา ในช่วง พ.ศ. 2535 มูลนิธิฯ ส่งเจ้าหน้าที่ 3 รายไปประจำ ณ ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ ประกอบด้วย ครูผู้สอน 1 ราย ผู้ช่วยครู 1 ราย และเจ้าหน้าที่ธุรการอีก 1 ราย โดยมีกองทัพภาคที่ 4 ส่งเจ้าหน้าที่ทหารอีก 4 5 นาย มาช่วยดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในศูนย์ฯ จำนวนสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผาพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเช่นในฤดูทำนาหรือกรีดยางสมาชิกก็ลดลง เมื่อสมาชิกว่างจากการทำนาหรือกรีดยางแล้วก็กลับมาทำเครื่องปั้นดินเผาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ก็มีสมาชิกประจำอยู่ประมาณ 40 50 คน ทั้งประเภทที่มีฝีมือดี ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและที่ฝีมือปานกลางได้ค่าแรงเป็นรายวันแต่ละคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ 3,500 6,000 บาทต่อเดือนโดยประมาณ นับเป็นรายได้เสริมที่น่าพอใจสำหรับครอบครัวของสมาชิกที่ส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก