ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่บ้านชาวเลหรือมอแกน ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายหาดบริเวณอ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ ประมาณ 130 150 คน ชาวเลหรือมอแกนเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะของทะเลอันดามัน ตั้งแต่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย เรื่อยไปจนถึงเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย มอแกนเป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา โดยในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคม พฤศจิกายน มอแกนจะอาศัยอยู่บนเรือที่เปรียบเสมือนบ้าน แต่พอถึงช่วงระหว่างเดือนธันวาคม เมษายน จะเปลี่ยนที่อยู่มาอาศัยอยู่บนบกที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เรือของชาวมอแกนแบบดั้งเดิม มี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเรือขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากไม้ประมาณ 3 4 ต้น ใช้เวลาสร้างประมาณ 60 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 20 คน ประเภทที่ 2 เป็นเรือขนาดเล็ก ใช้ไม้เนื้ออ่อนเจาะด้วยขวาน ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 3 คน โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบเรือทั้ง 2 ประเภท จะใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกัน คือ ไม้ขนุนปานหรือไม้ระกำ ขวาน ใช้สลักไม้แทนตะปู ใช้หวาย ใบเตย หรือใบค้อ กระสอบป่านแทนหมันและน้ำมันยาง วิถีชีวิตของชาวมอแกน อาศัยการนับเวลาจะสังเกตจากดวงจันทร์ พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ โดยในเดือนเมษายนของทุกปี กลุ่มชาวเลที่อยู่กระจัดกระจายตามเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงและในประเทศพม่าจะมารวมตัวกันที่หมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อประกอบพิธี "ลอยเรือ" อันเป็นการบวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง จึงถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด