"หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอสรรคบุรี พบที่เมืองโบราณดงคอน ตำบลดงคอน เมืองโบราณแห่งนี้ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีคูเมืองกว้างประมาณ 20 เมตรล้อมรอบและเชื่อมต่อกับแม่น้ำน้อย ผังเมืองลักษณะนี้คล้ายกับเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี บริเวณนอกเมืองพบโบราณสถานอยู่หนึ่งแห่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกปราสาท” ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงซากอิฐที่สร้างขึ้นจากก้อนอิฐขนาดใหญ ่(ประมาณ 26x51 ตารางเมตร) นอกจากนั้นยังมีการค้นพบโบราณวัตถุต่าง ๆ อาทิเช่น กำไล,ใบหอก,ขวาน,เหรียญเงินประทับตราสังข์และศรีวัตสะพร้อมอักษรปัลลวะ หลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือ แผ่นศิลานูนต่ำรูปพระพุทธเจ้าปางสมาธิขนาบข้างด้วยเสาธรรมจักรและสถูป ซึ่งหลักฐานเหล่านี้สามารถกำหนดอายุได้เก่าแก่ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือต้นสมัยทวารวดี ชุมชนโบราณแห่งนี้ยังปรากฎร่องรอยการอยู๋อาศัยต่อมายังสมัยสุโขทัยและอยุธยา เนื่องจากมีการค้นพบเครื่องถ้วยสังคโลกและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง รวมถึงพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา ร่องรอยของเมืองโบราณดงคอนนี้จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องต่อเนี่องกับการก่อตั้งชุมชน “เมืองแพรก” ขึ้นในช่วงเวลาต่อมา เมื่อวัฒนธรรมเขมรได้เข้ามาแพร่หลายในภาคกลางของประเทศไทยราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เมืองสรรคบุรีก็ได้รับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่น ๆ ในภาคกลางหลักฐานที่สำคัญนอกจากโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแท่นหินบดยาแบบเขมรที่พบในเมืองโบราณดงคอนแล้ว ยังพบแผ่นทับหลังหินทรายที่ติดอยู่บนพระปฤษฎางค์ขององค์พระพุทธรูปหลวงพ่อฉายภายในวิหารวัดพระแก้วที่แสดงลักษณะสำคัญของศิลปะขอมอีกด้วย"