สุสานโต๊ะปาไซ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านแบรอจือแร ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี "โต๊ะปาไซ" เป็นนามของ ชัยคฺ ซาอิด มุสลิมจากเมืองปาไซ เกาะสุมาตรา ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองปัตตานี ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ชัยคฺ ซาอิด เป็นชาวอาหรับเยเมน มีความรู้ทางด้านการแพทย์และการศาสนาอิสลาม ท่านเดินทางมายังแผ่นดินมลายูครั้งแรก มีถิ่นฐานพำนักที่เมืองปาไซ (Pasai) เกาะสุมาตรา ซึ่งขณะนั้นชาวปาไซเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ขฑฃณะที่ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะสุมาตรายังไม่ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาชาวปาไซกลุ่มหนึ่ง รวมทั้ง ชัยคฺ ซอิด ได้เดินทางมายังปัตตานี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งนอกตัวเมืองปัตตานี ที่เรียกกันต่อมาว่า "กัมปงปาไซ" (Kampung Pasai) ในระยะที่ ชัยคฺ ซาอิด เดินทางมายังเมืองปัตตานีนั้น เจ้าเมืองปัตตานีและวงศานุวงศ์ รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ชัยคฺ ซาอิด ได้ทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้กับชาวพื้นเมือง โดยใช้สถานที่ที่เรียกว่า วิหาร (Vihara) หรือ แบรอ (Biara) (เดิมหมายถึง ศาสนสถานของชาวฮินดู) เป็นที่สอนศาสนา ทำให้บริเวณใกล้กับกัมปงปาไซ มีแบรอ หรือวิหารเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ต่อมา ชัยคฺ ซาอิด ได้เข้ารักษาโรคผิวหนังให้แก่พญาอินทิรา เจ้าเมืองในขณะนั้นจนหายเป็นปกติ พญาอินทิราจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับ ชัยคฺ ซาอิด และได้รับพระนามใหม่ คือ สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮ์ ฟิล อาลัม (Siltan Ismail Syah Zillullah Fill Alam) นับจากนั้นมาเมืองปัตตานีก็ได้รับการเรียกว่า "ปตานี ดารุสสลาม" (Patani Darussalam) คุณูปการของ ชัยคฺ ซาอิด ต่อมาเมืองปัตตานีนั้นยิ่งใหญ่ เนื่องจากหบัวจากนั้นศาสนาอิสลามที่เมืองปัตตานีได้เผยแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว ปัตตานีเป็นแหล่งศึกษาและเผยแพร่ศาสนาอิสลามอกไปทั่วเอเซียอาคเนย์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "ระเบียงแห่งมักกะฮฺ" บุคคลสำคัญ คือ ชัยคฺ ซาอิด ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ผู้ให้กำเนิดอิสลามในภูมิภาคปัตตานี" นับตั้งแต่ได้สถาปนาปตานีดารุสสลาม ในปัจจุบัน นอกจากสุสานของชัยคฺ ซาอิดแล้ว สิ่งก่อสร้างอย่างอื่นแทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่เลย เนื่องจากส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ จึงผุพังไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่เหลืออยู่เป็นหลักฐาน คือ ภูมินามที่เป็นชื่อหมู่บ้านแถบตำบลตะลุโบะ หลายแห่งมีคำว่า "แบรอ" สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ บ้านแบรอ บ้านแบรอจะรัง บ้านแบรอบือแยละมิแร เป็นต้น ชื่อหมู่บ้านดังกล่าวจึงเป็นอนุสรณ์แห่งเกรียรติภูมิ คุณความดีของ ชัยคฺ ซาอิด หรือโต๊ะปาไซที่ได้ใช้ "แบรอ" เป็นที่สอนศาสนาอิสลามในระยะแรกก่อนที่จะมีการสร้างมัสยิดในสมัยต่อมา