เมืองโบราณบ้านทุ่งตึก ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะคอเขา ระหว่างปลายคลองเมืองทองกับปลายคลองทุ่งตึก บริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำตะกั่วป่า ลักษณะพื้นที่เป็นลานทราย มีต้นไม้ขึ้น บางแห่งก็เป็นป่าละเมาะ เหตุที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก "ทุ่งตึก" เนื่องมาจากบนลานทรายระหว่างป่าละเมาะในเนื้อที่หลายสิบไร่นี้ มีซากอาคารโบราณสถานคล้ายตึกหรือวิหารอยู่ไม่น้อยกว่า 3 แห่ง แล้วยังพบชิ้นส่วนของศาสนสถาน และสัญลักษณ์รูปเคารพ ในศาสนาพราหมณ์ อาทิ แผ่นศิลาสลักเป็นแท่นเจาะรูคล้ายกับเป็นแท่นศิลารองฐานศิวลึงค์หรือเทวรูป นอกจากนี้แล้ว ตามพื้นดินยังเต็มไปด้วยเศษกระเบื้องถ้วยชามเครื่องเคลือบของจีน เศษภาชนะดินเผา เศษภาชนะทำแก้วสีต่าง ๆ พร้อมด้วยลูกปัดชนิดและสีต่าง ๆ มากมาย เงินเหรียญอินเดียกระจายเต็มบริเวณที่เป็นโบราณสถานทุ่งตึก นักปราชญ์ทางโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ทุ่งตึกเป็นที่ตั้งเมืองท่าโบราณ ซึ่งชาวอินเดีย อาหรับ และชาวมลายู รู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเมืองท่าค้าขายเครื่องเทศสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายู ตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสมในการอาศัยจอดเรือหลบคลื่นลม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อยู่ใกล้ทะเลหลวง เรือขนาดใหญ่ก็สามารถเข้าออกสะดวก และอยู่ตรง ปากแม่น้ำตะกั่วป่า การคมนาคมทั้งขึ้นและล่องตามลำแม่น้ำจะต้องผ่านเสมอ