วัดพานิชวนาราม (วัดป่า) ตั้งอยู่เลขที่ ๙ ถนนจันทนาราม หมู่ที่ ๑ ตำบลวัดสิงห์ ตามประวัติกล่าวว่า ได้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างแต่เรียกกันต่อๆ มาว่า “วัดป่า” ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง และได้กลับเป็นวัดขึ้นอีกครั้งมื่อ นายสำปั้น พานิชกุล ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างเสนาสนะ พร้อมกับถวายความอุปถัมภ์ตลอดมา และ เรียกขานกันว่า “วัดป่าธัญญผล” (แปลว่า วัดป่าข้าวเปลือก) ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระเจริญอรุณศักดิ์ นายอำเภอวัดสิงห์ เห็นว่า นายสำปั้น พานิชกุล ได้ทำนุบำรุงวัดด้วยดีตลอดมา จึงได้เปลี่ยนนามวัดเสียใหม่เป็น “วัดป่าพานิชกุล” เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏสืบไป ต่อมาบรรดาบุตรธิดา ของนายสำปั้น พานิชกุล เห็นว่าวัดเป็นของส่วนรวม ไม่ควรจะใช้นามสกุลเป็นนามวัดทั้งหมด ทางวัดจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดพานิชวนาราม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นาม “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาข้างอุโบสถ ดลบันดาลความสำเร็จแก่ผู้เลื่อมใสแล้วกลับมาแก้บนกันมิได้ขาด มีประวัติว่า ครั้งหนึ่งมีการล้างป่าช้าเพื่อใช้เนื้อที่ในการสร้างวัด ได้ฌาปนกิจศพเหล่านั้นแล้วจึงนำเถ้าอัฐิมาสร้างเป็นองค์พระจึงได้ชื่อ หลวงพ่อขาว