ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดป่าใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการสร้างเมืองอุบลราชธานี ต่อมาในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระพรหมวรราชสุริยะวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) ได้ยกฐานะเป็นวัดและถือเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สองด้วย จึงให้ชื่อว่าวัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองตะพังหรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเป็นวัดมหาวนาราม จากหลักฐานศิลาจารึกที่ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดระบุปีที่สร้างวัดนี้ตรงกับ พ.ศ. 2350 โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป พระอินทร์แปง หรือพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนพร้อมกับลงรักปิดทองลักษณะศิลปะแบบลาว ในวันเพ็ญเดือน 5 (ประมาณเดือนเมษายน) ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตร เทศน์มหาชาติชาดก และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ซึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมาจนทุกวันนี้