ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้เริ่มมาจากการที่ราษฎรบ้านกุดนาขามร้องทุกข์ว่าที่ดินบริเวณนี้เพาะปลูกไม่ได้ผล เพราะฤดูฝนน้ำท่วมส่วนฤดูแล้งน้ำก็แห้งหมด จนราษฎรในหมู่บ้านต้องอพยพไปทำงานรับจ้างในจังหวัดอื่น ๆ จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่หัวยนกเค้าอันเป็นแหล่ง น้ำดื่มน้ำใช้ของราษฎร ห่างจากหมู่บ้านราว 5 กิโลเมตร ราษฎรบ้านกุดนาขามเป็นราษฎรที่มีความสามัคคีกันดีมาก เมื่อครั้งที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่แทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ราษฎรบ้านกุดนาขามไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ กับผู้ก่อการร้าย ทั้งยังอาสาป้องกันตนเองร่วมกับบ้านหนองฮางจนผู้ก่อการร้ายไม่กล้าเข้ามาข่มขู่คุกคาม และได้รับคำชมเชยอย่างมากจากทางราชการและเป็นตัวอย่างให้ราษฎรหมู่บ้านอื่น ๆ ขอฝึกหลักสูตรไทยอาสาป้องกันตนเองบ้าง จนในที่สุดโครงการนี้ได้พัฒนาไปเป็นโครงการไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช) ในต่อมา วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านกุดนาขาม ทรงทราบว่าราษฎรบ้านกุดนาขามแม้จะยากจนแต่ก็มีความสามัคคีจึงทรงชักชวนให้ราษฎรปลูกต้นไม้รักษาป่า คณะกรรมการหมู่บ้านได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินสาธารณะของหมู่บ้านจำนวน 41 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา สำหรับปลูกป่าและเสียสละแรงงานปลูกป่าถวายจนแล้วเสร็จในเวลา 1 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นที่ บ้านกุดนาขามเพื่อให้ราษฎรไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่นและหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ พ.อ.เรวัต บุญทับ จากกรมทหารราบที่ 23 ซึ่งได้ดูแลพื้นที่นี้มาตั้งแต่ครั้งยังก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รับพระราชทานนโยบายไปจัดซื้อที่ดินจำนวน 50 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์ศิลปาชีพขึ้น เมื่อราษฎรบ้านกุดนาขามทราบก็พร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 50 ไร่ โดยไม่ขอรับพระราชทานค่าตอบแทนใด ๆ ปัจจุบันนี้ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามเปิดสอนศิลปาชีพหลายแขนง ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา แกะสลักไม้ ทำเครื่องเรือน ดอกไม้ประดิษฐ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ถนอมอาหารและโภชนาการ หล่อโลหะ ตีเหล็ก ทำอิฐบล็อค ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้ายและอื่น ๆ อีกมากทำต่างถิ่น