วัดโบสถ์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายหลังเป็นวัดร้างมีสภาพทรุดโทรมต่อมาได้รับการบูรณะใหม่เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2425 อุโบสถเก่าแก่สมัยอยุธยาและมีรูปแบบทรงมหาอุดที่ชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงให้ความนับถือได้รับการซ่อมแซมจนรูปแบบผิดแผกไปจากเดิม รวมทั้งซุ้มประตูและกรอบหน้าต่างทำให้ไม่เหมือนลักษณะการตกแต่งใด ๆ คงเหลือแต่เพียงประตูทางเข้าด้านหน้า 1 ช่อง และหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ซึ่งพอจะยืนยันได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา รอบอุโบสถมีใบเสมาหินทรายคู่อยู่ในซุ้มตามแบบศิลปะจีน สิ่งที่หน้าสนใจของวัดนี้คือ คือ พระปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถที่ยังเป็นของเดิม แต่เนื่องจากไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมจึงทรุดโทรมมากจนไม่อาจศึกษารูปแบบได้ แต่จากโครงสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ สังเกตได้ว่าลักษณะของพระปรางค์องค์นี้เหมือนกับพระปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาทั่วไป เรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก มีซุ้มนำยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ด้านตะวันออกเจาะเป็นช่องคูหาขนาดใหญ่ แต่มีคนลักลอบขุดจนชำรุดทรุดโทรมมาก นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายสีแดงและเทาจำนวนมาก มีขนาดหน้าตักกว้างตั้งแต่ 0.30 1.00 เมตร จากศิลปะที่ปรากฏบนองค์พระพอประมาณอายุได้ว่าอยู่ในราวต้นพุทธ ศตวรรษที่ 21 และพุทธศตวรรษที่ 22