สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือใบเสมา สมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว อายุประมาณ 1,000 ปี ราว พ.ศ.1200 1300 เป็นศิลปะขอม แบบไพรกเมง มีลักษณะเรียว ปลายแหลม คล้ายใบหอกป้าน ด้านล่างคอด ส่วนฐานสลักลายดอกบัวบาน ใบเสมาเหนือแนวกลีบบัวสลักแนวแกนเสมาคล้ายรูปสถูปจำลอง หรือปลียอดสถูป ด้านล่างเป็นรูปหม้อน้ำตั้งซ้อนอยู่บนองค์ระฆังคว่ำ ถัดไปเป็นปล้อง มีแนวลวดลายบัวคั่นตรงกึ่งกลาง แกนเสมาสลักลายใบไม้ 3แฉก หงายขึ้นรับลายดอกไม้ครึ่งดอก ในขอบวงโค้ง 3วงเรียงต่อกัน ส่วนยอดเป็นพุ่มปลายแหลมเหมือนยอดธงมีอุบะห้อย ลวดลายกลีบบัว บนฐานเสมาได้รับอิทธิพลมาจากลายกลีบบัวฐานพระพุทธรูป หรือธรรมจักรศิลปะทวาราวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้ง 3วงที่เรียงต่อกันเป็นวงเดียวกันนั้นคล้ายคลึงกับลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้งที่ปรากฏอยู่บนฐานเทวดาซึ่งย่อตัวพนมมือหันเข้าหาจุดกึ่งกลางของทับหลัง ซึ่งขุดพบที่บริเวณประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์ทิศเหนือของปราสาทเขาน้อยสีชมพู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว