ลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้คงจะเป็นภาพจิตรกรรมหรือฮูปแต้ม และประติมากรรม ตรงเชิงบันไดทางขึ้นสู่โบสถ์ ประดับด้วยประติมากรรมสิงห์หมอบทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าสิงห์ทั้งสองมีรูปปั้นคนนั่งเหยียดเท้ารูปปั้นทั้งสองล้วนเป็นฝีมือของหลวงพ่อผุย พระอุปัชฌาย์ วัดสระบัวแก้ว ส่วนผนังของโบสถ์แห่งนี้ก่ออิฐถือปูน บริเวณภายในและภายนอกผนังทั้งสี่ด้านจะปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาดก สวรรค์ นรก หรือนิทานพื้นบ้านเป็นต้น มีการแบ่งองค์ประกอบของภาพออกเป็นตอนๆ โดยช่างแต้มจะใช้เส้นแถบหรือสินเทาเป็นตัวแบ่งเรื่อง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฮูปแต้มอีสานมักไม่ปรากฏว่ามีสินเทา สินเทานี้มีรูปร่างเหมือนสายฟ้าแลบ สามารถเห็นได้ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่สะดุดตาและเกิดความประทับใจเป็นพิเศษสำหรับฮูปแต้มวัดสระบัวแก้ว ก็คือช่างแต้มดูออกจะมีอิสระเสรี สามารถที่จะแสดงฝีมือของตนได้อย่างเต็มที่ต่อการเขียนภาพต้นไม้ ใบไม้ และภาพสัตว์นานาชนิด ซึ่งลักษณะนี้จะคล้ายกับงานจิตรกรรมตะวันตก ในสมัยอิมเพรสชั่นนิสม์สังเกตได้จากฝีแปรงการแตะแต้ม ส่วนสีที่ใช้จะเป็นสีเหลือง คราม ดินแดง เขียว ฟ้า ดำ