เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงคานมานานร่วม 200 ปี เดิมวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นคุ้งน้ำวน ซึ่งชาวเชียงคานเรียกว่า “คก” จึงได้ตั้งชื่อว่า “วัดท่าคก” จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนศิลาจารึก ได้บันทึกเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ว่า วัดท่าคกถูกสร้างขึ้นในสมัยที่เมืองเชียงคานยังขึ้นอยู่กับมณฑลพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2395 โดยพระศรีอรรคฮาต (สีทา) เจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้นร่วมกับชาวบ้าน เพื่อที่จะปกป้องผืนแผ่นดินสยาม มิให้ถูกฝรั่งเศสรุกล้ำพื้นที่เข้ามาจากการล่าอาณานิคมเมืองขึ้น พระศรีอรรคฮาตจึงได้ออกอุบายสร้างวัดท่าคกนี้กันพื้นที่เอาไว้ วัดแห่งนี้นอกจากจะเป็นปูชนียสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในอำเภอเชียงคานแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมงานศิลปะและวัฒนธรรมจากหลายชนชาติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถที่มีศิลปะลวดลายแบบฝรั่งเศสอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าโบสถ์ และขอบหน้าต่าง ที่คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองดินแดนฝั่งลุ่มน้ำ โขง (ลาว) เป็นเมืองขึ้น ส่วนตัวอุโบสถจะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ตามแบบศิลปะล้านช้าง ตกแต่งด้วยปูนปั้น เพดานไม้วาดลายเขียนสีแบบโบราณ ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย ศิลปะปูนปั้นล้านช้าง ที่ชาวเชียงคานเคารพบูชามาช้านาน ทั้งนี้บริเวณหน้าโบสถ์ยังมีศิลาจารึกที่บ่งบอกถึงเรื่องราวการสร้างวัด ที่เขียนด้วยตัวอักษรธรรมอีสานเอาไว้