การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมด้านการทอผ้าของประชาชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในแถบจังหวัดมหาสารคามที่สืบทอดกันมาแต่อดีตกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นกระบวนการทอผ้าไหมให้เกิดเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม ประณีต ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากเป็นการสร้างสรรค์ลายผ้าโดยนำลวดลายพื้นฐานที่มีมาแต่โบราณคือลายโคม เช่น โคมห้า โคมเจ็ด โคมเก้า มาพัฒนาให้เป็นลายที่มีความละเอียดและเพิ่มสีสันให้สวยงามขึ้นเรียกชื่อว่า "ลายสร้อยดอกหมาก” เนื่องจากลายดอกได้แรงบันดาลใจจากดอกหมาก ซึ่งในอดีตนั้นต้นหมากมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยผู้คนสมัยก่อนนิยมกินหมากกัน และต้นหมากนั้นมีดอกขนาดเล็กมีกลีบแหลมหกกลีบเรียงเป็นสองชั้นสีขาวแกมเหลือง มีเกสรอยู่ใจกลางดอกเป็นเส้นเล็กๆ แผ่ออกมา ดูสวยงาม เมื่อออกดอกจะเรียงร้อยต่อกันเป็นสายและออกเป็นช่อระย้าย้อยลงมา ทำให้ช่างทอเห็นแล้วเกิดความประทับใจจึงได้นำลักษณะของดอกหมากมาสร้างสรรค์เป็นลายผ้า โดยนำโครงสร้างของลายโคมห้ามามัดย้อมซ้อนกับลายโคมเก้าแล้วโอบหมี่แลเงา ให้มีลายแน่นขึ้น มีความละเอียดมากขึ้น และเพิ่มเติมสีสันให้สวยงาม หลากหลายในการมัดย้อมแต่ละครั้ง ทำให้ได้ลายผ้าขนาดเล็กและประณีต แล้วเรียกลายผ้านี้ว่า "ลายสร้อยดอกหมาก” ด้วยความละเอียดสวยงามจึงเป็นผ้าที่นิยมใช้กันในอดีต และมีการสืบทอดต่อกันมาในวัฒนธรรมการทอผ้าของกลุ่มผู้คน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย