วัดราษฎร์ประดิษฐ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2370 เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างด้วยแรงงานชาวบ้าน โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น อิฐที่ใช้เป็นอิฐที่เผาจากดินดิบในหมู่บ้าน มีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ สิม (อุโบสถ) หอแจก(ศาลาการเปรียญ) และกุฏิลาย มีโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ พระพุทธรูปแกะจากไม้ ธรรมมาสน์ไม้ หีบไม้เก็บตำราเป็นต้น วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2470 เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเวลานานตั้งแต่ บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราญสถาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2544 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา มีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2555 2556 โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์ไพจิตร อาจารย์รัตนา ปวะบุตร และญาติ สนับสนุนงบประมาณในการบูรณะ สิม (อุโบสถ) ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 ขณะนั้นญาท่านพัน เป็นเจ้าอาวาส มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบโบราณมีขนาด 4 ห้อง แบบมีมุขหน้า และพาไล ฐานแอวขันสูง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเตี้ยๆ หลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เครื่องประดับหลังคาชุดช่อฟ้า ลำยองหางหงส์และเชิงชาย ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย หน้าบัน ด้านหน้าตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปมังกร หงส์ ปลา ปู กุ้ง เต่า จระเข้ และดอกบัว ส่วนด้านหลังเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ หงส์ ช้าง กวาง ต้นไม้ และดอกไม้ บันได มีลักษณะผายออกเล็กน้อย ราวบันไดทั้งสองข้างตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปมกร(มะกอน) ผนังด้านข้างอุโบสถทั้งสองข้างเว้นช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่องพร้อมบานเปิดเข้าทำด้วยไม้ ด้านนอกหน้าต่างตกแต่งด้วยซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ด้านนอกอุโบสถและพาไลที่ผนัง มีเสาประดับตกแต่งด้วยบัวหัวเสา เหนือบัวหัวเสาบางต้นมีประติมากรรมปูนปั้นรูปปลาแบบนูนสูง ส่วนผนังมุขหน้าทั้งสองข้างเว้นช่องหน้าต่างโล่งเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมข้างละ 1 ช่อง มีบัวหัวเสารองรับซุ้มโค้ง ส่วนด้านหน้าเว้นช่องประตูซุ้มโค้ง 1 ช่อง มีบัวหัวเสารองรับซุ้มโค้งประตูเช่นกัน ประตูเข้าอุโบสถ 1 ช่อง ทำด้วยไม้บานคู่เปิดเข้า เหนือซุ้มประตูตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบนูนต่ำ กลางซุ้มมีภาพจิตกรรมรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าปางมารวิชัยบนฐานชุกชียาว ผนังด้านหลังองค์พระประธานมีภาพจิตรกรรมรูปพระพุทธรูปประทับยืนขนาบข้างซ้าย – ขวา หอแจก (ศาลาการเปรียญ) ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2468 สร้างขึ้นก่อนพระอุโบสถ มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหมักฐานแอวขันปากพานโบกคว่ำโบกหงาย หลังคาทรงจั่ว ปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ช่อฟ้า ลำยอง สันหลังคา ทำด้วยไม้ แกะสลัก เชิงชายตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก และฉะลุลวดลาย มีมุขบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านหลังเบี่ยงซ้ายห้องที่สอง ราวบันไดตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปมกรคายนาค ด้านทิศตะวันออกมีสัตว์คล้ายเสือเฝ้าบันไดเพิ่มมาข้างละตัว ภายในศาลามีธรรมาสน์เก่าฐานก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยลวดลายพันธ์พฤกษาหลากสี องค์ธรรมาสน์และยอดทำด้วยไม้ฉลุลายผสมผสานลวดลายรดน้ำปิดทองคำเปลว ธรรมมาสน์ ตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญ เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะอีสานกับศิลปะญวน สร้างด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลาย และทาสีด้วยสีจากธรรมชาติ ซึ่งยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ และมีบันไดซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง มีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม จัดเป็นโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน กุฏิลาย มีลักษณะเป็นเรือนเสาไม้ใต้ถุนโล่ง มี 3 หลังต่อกัน ปัจจุบันเหลือเพียง 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เรือนหลังใหญ่หลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดหน้าจั่วลูกฟัก เครื่องประดับหลังคาทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ประกอบด้วยช่อฟ้า ปั้นลมและหางหงส์ผนังฝาสายบัวทั้งหลังแต้มสี ไม้ปิดหัวตงแกะสลัก ลวดลายแต้มสีเว้นช่องหน้าต่างแบบมีหย่องด้านหน้าและด้านหลังข้างละ1ช่อง บานไม้คู่มีอกเลาเปิดเข้าด้านใน วงกรอบแกะสลักลวดลายแต้มสีส่วนด้านข้างมีขนาด 3 ห้องเว้นช่องหน้าต่างเล็กห้องละ 1 ช่อง บานไม้เดี่ยวเปิดเข้า ด้านตรงข้ามเป็นประตูบานไม้คู่มีอกเราเปิดเข้าด้านในวงกรอบแกะสลักลวดลายแต้มสี ส่วนเรือนอีกหลังเปิดโล่งหลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกร็ดหน้าจั่วรูปพระอาทิตย์แกะสลักลวดลายประดับกระจกแต้มสีมีชานบันไดขึ้น 2 ข้างตกแต่งเครื่องหลังคาด้วยไม้แกะสลัดลาย