งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม 
[]

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม งานประเพณี

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มครอบครัว/กลุ่มผู้สูงอายุ/กลุ่มวัยทำงาน/กลุ่มสตรี/กลุ่มมุสลิม/กลุ่มคู่รัก / คู่แต่งงาน/


เปิดGoogle map

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม (ภาษาอีสาน เรียกว่า เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร และบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม การไหลเรือไฟเป็นพิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ โดยมีความเชื่อว่าการไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาเมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ จะ ละ เจ ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือ การสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น รวมทั้งเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ประทับไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที เมื่อครั้งที่พญานาคได้อาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาคในลำน้ำโขง การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาและการขอขมาลาโทษต่อแม่น้ำเพื่อให้ชีวิตมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและมีความเจริญรุ่งเรือง เดิมเรือไฟในสมัยโบราณทำด้วยไม้ไผ่สร้างเป็นโครงรูปเรือตัวเรือกว้าง 2 ศอก สูง 1 ศอก ยาว 5 6 วาส่วนหัวและท้ายทำเป็นรูปคล้ายหัวเรือและท้ายเรือโครงเรือจะประดับด้วยกาบกล้วยแทงลายและธงทิวสวยงามจากนั้นนำโครงเรือไปวางอยู่บนทุ่นหรือแพที่ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำเพื่อให้เรือสามารถลอยน้ำได้ บนเรือปักขี้ไต้ไว้สำหรับให้จุดความสว่างมีดอกไม้จัดวางพานขัน 5 ธูป เทียน และมีขันหมากเบ็ง นำเครื่องคาวหวานต่างๆ เช่น ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย หมากพลู เสื้อผ้า หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน พอช่วงพบค่ำชาวบ้านจะร่วมกันทำพิธีปล่อยเรือไฟโดยใส่เงินเหรียญ ตัดเล็บ ตัดผม ลงไปในเรือไฟและอธิฐานตามสิ่งปรารถนาก่อนจุดเรือไฟให้สว่างไสวและปล่อยเรือไฟลอยออกไปกลางลำน้ำโขง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเรือไฟแต่โบราณสู่การสร้างสรรค์ออกแบบการทำเรือไฟประยุกต์ในปัจจุบันซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความยาวกว่า ตัวเรือประดับไฟตะเกียงนับหมื่นดวงเป็นรูปร่างต่างๆอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เมื่อปล่อยเรือไฟจำนวนกว่า 12 ลำ ลงในแม่น้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพขบวนเรือไฟที่งดงามประทับใจต่อนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน นอกจากการไหลเรือไฟยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอาทิ การปล่อยกระทงสาย(ไข่พญานาค) ในลำน้ำโขงชมนิทรรศการเรือไฟของแต่ละอำเภอในจังหวัดนครพนมบริเวณริมฝั่งโขง การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีพื้นบ้านการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น

 Visitor:7