เดิมชื่อว่า “วัดเวฬุวนาราม” ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่พงศาวดารโยนกกล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ตีเอาหัวเมืองเหนือทั้งหลายได้แล้ว ก็ส่งพระราชโอรสพระนามว่า “พระเจ้านรธาเมงสอ” มาปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชในระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๒๒ – ๒๑๕๖ เพื่อคอยควบคุมเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ให้กระด้างกระเดื่อง (เฉลิมพระนามใหม่ว่า “เจ้าฟ้าสารวดี”) เมื่อเจ้าฟ้าสารวดีสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชาถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์กู่เต้าขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุของพระองค์ แล้วจึงโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งก็คือ “วัดกู่เต้า” ในปัจจุบัน เจดีย์กู่เต้ามีลักษณะคล้ายการนำผลแตงโม (ชาวล้านนาเรียกแตงโมว่า “บะเต้า”) หรือบาตรคว่ำมาวางซ้อนกัน ๕ ลูก อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอริยเมตไตยโย องค์เจดีย์แต่ละชั้นประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายดอกไม้ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน บนยอดมีเจดีย์สีทององค์เล็ก และประดับด้วยยอดฉัตร คล้ายเจดีย์ศิลปะพม่า นักวิชาการสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเพียงเจดีย์ก่ออิฐถือปูน การประดับกระเบื้องสีบนเจดีย์น่าจะเพิ่งทำขึ้นใหม่ระหว่างการบูรณะพระเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสี และถ้วยชามนั้น เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างพระเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากพระเจดีย์กู่เต้าเอกลักษณ์สำคัญของวัดแล้ว พระวิหารหลวง เป็นอาคารอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ พระวิหารสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงเครื่องแบบวัดไทยในภาคกลางลดหลั่นกัน 3 ชั้น หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น สวยงามมาก พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องทอง เครื่องทรงของพระพุทธรูปลวดลายวิจิตรงดงาม แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะพม่าอย่างชัดเจน