เมื่อปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่บ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขายากจนและขาดแคลนที่ทำกิน พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ รับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มอยู่ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง มีพื้นที่รับผิดชอบ 24,084.93 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงทานอาหารมังสวิรัติและยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว จะมีประเพณีทำบุญข้าวใหม่ ประมาณเดือนมกราคมของทุกปี ท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ แปลงสาธิตพืชผักแปลกใหม่ ได้แก่ ฟักบัตเตอร์นัต ฟักจานบิน ฟักคอหงส์ และพริกเม็กซิกันเผ็ดและหวาน, แปลงสาธิตผักที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ได้แก่ มะเขือม่วงก้านดำ คะน้ายอดดอยคำ แปลงสาธิตการปลูกไม้ผลเมืองร้อน ได้แก่ มะม่วงพันธุ์จากต่างประเทศ มะเฟือง สายพันธุ์ไต้หวัน มะปราง เสาวรส อโวคาโด บ๊วย และท้อ, แปลงไม้ดอกไม้ประดับ การปลูกกุหลาบหนู และแปลงพืชสมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้หอม เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในหมู่บ้านห้วยต้ม ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ณ บ้านกะเหรี่ยงโบราณ บ้านน้ำบ่อน้อย และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้าแบบทอมือโบราณพื้นบ้านโดยใช้กี่กระตุก ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นย้อมสี มีลวดลายโบราณ เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง กระเป๋าสะพาย ผ้าห่ม การทำเครื่องเงินที่ใช้วัตถุดิบเป็นเงินแท้ มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่ากะเหรี่ยง เช่น สร้อยคอ กำไล แหวน การทำเครื่องประดับจากกะลามะพร้าว เครื่องจักรสาน ภายในศูนย์ฯ มีบ้านพักและเต็นท์บริการ