คุ้ม เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกบ้านของเจ้านายที่มีอำนาจในการปกครอง หรือ เจ้านายในตำแหน่ง “เจ้าขัน 5 ใบ คือ เจ้าหลวงผู้ครองนนคร เจ้าอุปราชหอหน้า เจ้าราชบุตร เจ้าราชวงศ์ และเจ้าบุรีรัตน์” คุ้มวงศ์บุรี เป็นคุ้มที่มีฐานะพิเศษ เนื่องด้วยเป็นที่พำนักของอดีตชายาของเจ้าหลวงฯ จึงสามารถขนานนามว่า “คุ้ม” ได้ โดยสร้างขึ้นตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัณญา ชายาองค์แรกของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรสระหว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีพระยาบุรีรัตน์(น้องชาย) ที่รับมาเป็นบุตรีบุญธรรม กับ คุณหลวงพงษ์พิบูล(เจ้าพรหม วงศ์พระถาง) โดยทั้งสองได้ใช้เรือนหลังนี้เป็นเรือนหอในพิธีเสกสมรสด้วย คุ้มวงศ์บุรี เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2440 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2443 โดยนายช่างชาวจีน จากมณฑลกวางตุ้ง มาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและมีช่างพื้นเมืองเป้นผู้ช่วยจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 ชั้น ทรงไทยผสมยุโรป สีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีดั้งเดิม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุที่เรียกว่า “ขนมปังขิง” หรือ “Ginger Bread” ทั่วอาคาร เช่น หน้าจั่ว ชายน้ำ ช่องลม กรอบเช็ดหน้าเหนือประตูและหน้าต่าง ระเบียง และภายในอาคาร ซึ่งปรากฏเป็นลายพรรณพฤกษาและเครือเถาว์ ซึ่งเป็นพระราชนิยมมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ฐานรากของอาคารเป็นท่อนไม้ซุงขนาดใหญ่วางเรียงกัน ก่อนจะก่ออิฐเทปูนทับลงไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของอาคาร วัสดุหลักในการก่อสร้าง คือ ไม้สักทองคุณภาพดีที่สุด อาคารใช้เทคนิคการเข้าลิ้นสลักไม้ ไม่ตอกตะปูแต่เป็นการตอกลิ่มไม้แทน ซึ่งเป็นแอกลักษณ์ของเรือนเครื่องสับตามแบบงานช่างไทยโบราณแต่เดิม หลังคามุงด้วยไม่แป้นเกล็ด ระหว่างอาคารส่วนหน้าและส่วนหลังมีการเชื่อมต่อด้วย “ชาน” และมีการยกระดับของพื้นที่ขึ้นเรียกว่า “เติ๋น” ใช้เป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อนและรับประทานอาหาร ปัจจุบันคุ้มวงศ์บุรี ได้เปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์” จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน วิถีชีวิตของเจ้านายในอดีต ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่ตกทอดมาในตระกูลที่ยังมีความสมบูรณ์และสวยงามอยู่