วัดพระธาตุเบ็งสกัด ตั้งอยู่บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นสถาปัตยกรรมไทยลื้อ ที่ได้มีการปรับเปลี่ยน รูปแบบหลายครั้งลักษณะวิหารเป็นทรงสูงแต่หลังคาจะกดต่ำแบบช่างล้านนาเดิม มีลาดบัวที่ฐานตอนล่างของพระวิหาร ด้านข้างของวิหารเจาะหน้าต่างเป็นบานเล็ก ๆ แคบ ๆ หน้าวิหารมีลักษณะเป็น มุขโถงโล่ง ๆ ภายในวิหาร ซึ่งภายในประกอบด้วยเสา เรียงสองแถว ตรงสู่แท่นฐานชุกชี ประตูด้านหน้าวิหาร เป็นประตูใหญ่กว้างและสูงประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นผสมผสานระหว่าง ศิลปะเก่ากับใหม่ เจดีย์พระธาตุเป็งสะกัด ความหมายของพระธาตุตามตำนาน หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ ลงไป แล้วไม้ขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีลำแสงเกิดขึ้น เจดีย์เป็นรูปทรงฐานระฆังคว่ำ เป็นมุมแปดเหลี่ยมลดหลั่น กัน เป็นชั้น ๆ ไม่มีลวดลายเป็นศิลปะแบบพะเยา หรือที่เรียกว่าเจดีย์ ทรงพะเยา ซึ่งมีมากที่พะเยา เชียงราย และบริเวณแถบภาคเหนือ ตอนบน ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วง ฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง