เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้านก่อและบ้านต้นฮ่าง ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมสร้างวัดขึ้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ พระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อปูนปั้นทาสีน้ำมันภายนอก องค์พระประธานนั่งกลาง อีกองค์หนึ่งประดิษฐานด้านขวา มีรูปแต้มอายุมากกว่า ๗๐ปี ปัจจุบันโครงสร้างอาคารและรูปแต้มหลายแห่งได้ผุพัง และทรุดโทรมลงไปอันเกิดจากสาเหตุ จากธรรมชาติ และแมลงรบกวน จึงเป็นที่มาของ “ โครงการอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง” รูปแต้มในวิหารมีอยู่ทั้งภายใน และบนผนังหน้าวิหารเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติชาดก และชาดกนอกนิบาต หรือนิทานพื้นบ้านอิงชาดก(ทางวิชาการมักแปลว่าชาดก ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก) ตัววิหารหันไปทางทิศตะวันออกมีโถงกว้างด้านหน้า ก่อนเข้าสู่ภายใน ซึ่งมีรูปแต้มสีฝุ่นเรื่อง “ หงส์หิน” ในวิหารมีรูปแต้มเรื่อง “ พรหมจักร” “ พระเวสสันดร” “พระเตมีย์” “พระมาลัยโปรดโลก” และ “พุทธประวัติ” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกว้น