พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ริเริ่มโดยนายโกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณชาวอำเภอลอง ซึ่งได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆของ ""เมืองลอง"" และผ้าโบราณของชุมชนใกล้เคียง จนกระทั่งร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพื้นบ้านสาขาสิ่งทอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2535 จากนั้นจึงได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณให้บุคคลทั่วไปชมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ส่วนที่ 1 ว่าด้วยเรื่องจิตรกรรมเวียงต้า งานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้หลายแผ่นที่ประกอบเป็นฝาผนังของช่างพื้นบ้านในอดีต เดิมอยู่ในวัดต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่ ปัจจุบันผาติกรรมไปเก็บไว้ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ลักษณะของภาพเขียนเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน แสดงถึงการแต่งกายของสตรี ""เมืองลอง"" อย่างชัดเจน ส่วนที่ 2 ผ้าโบราณเมืองลอง จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก ""เมืองลอง"" ที่มีลวดลายเหมือนกับภาพเขียนจิตรกรรมเวียงต้า ประวัติศาสตร์การทอผ้าจกของเมืองลอง ซึ่งไม่สามารถจะหาหลักฐานอ้างอิงชัดเจนได้ นอกจากตำนานการทอผ้าจากคนโบราณได้เล่าขานต่อมาว่า แม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองลองในอดีต มีถ้ำอยู่ใต้น้ำเรียกว่า วังน้ำ (อยู่แถวตำบลปากกาง) ไปถึงแหลมลี่ มีคนน้ำคนหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ""เงือก"" ขึ้นมายืมฟืมทอผ้า (อุปกรณ์ทอผ้าทำด้วยไม้) เมื่อทอผ้าเสร็จได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการบรรเลงดนตรี แล้วเงือกก็เอาฟืมมาคืนชาวบ้าน ชาวบ้านสังเกตเห็นลวดลายบนหัวฟืมที่มีสีสลับกันสวยงาม ชาวบ้านลองจึงเอาฟืมที่มีลายทอผ้ามาต่อเนื่องจนเกิดเป็นตีนซิ่นเรียกว่า ""ซิ่นตีนจก"" ที่เห็นกันในปัจจุบัน ส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ เพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาของชุมชน ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงผ้าจกจากแหล่งต่างๆในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้และเห็นถึงความแตกต่างกันของผ้าตีนจกจากแหล่งอื่นๆ เช่น ตีนจกแม่แจ่ม , ตีนจกไหล่หิน , ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว , ตีนจกราชบุรี , ตีนจกลาวครั่ง เป็นต้น ส่วนที่ 4 แสดงวิธีการเก็บผ้าโบราณ โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนโบราณที่ทำให้ผ้าสามารถอยู่ได้นานกว่า 200 ปี ส่วนสุดท้าย คือ ส่วนของร้านค้า จัดจำหน่ายผ้าตีนจกลายโบราณ ผ้าโบราณทำใหม่ พร้อมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปทันสมัยและผลิตภัณฑ์จากผ้า