ยุคเริ่มต้น จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในจังหวัดน่านพอสืบความได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ณ หมู่บ้านป่ากล้วย มีประชากรระยะเริ่มต้นประมาณ ๑๕ ครัวเรือน ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำเปือทางทิศตะวันตกของสุสานบ้านกลางในปัจจุบันนี้ ภายหลังมีผู้คนอพยพหนีภัยสงครามเนื่องจากเมืองน่านถูกเผา ร้างผู้คนอยู่นานกว่า ๒๓ ปี มาสมทบเพิ่มขึ้น จากหลักฐานจารึกภาษาล้านนาโบราณบนแผ่นเงินใต้ฐานพระประธาน (หลวงพ่อขาว) ข้อความแผ่นที่ ๑ ว่า “จุลศักกาศล่วงได้ ๑๑๔๔ ตัวปี๋กาบไจ้ คนจื่นบาน กิ๋นตานม่วน จวนกันกึดวัดบ้านป่ากล้วย ” ข้อความแผ่นที่ ๒ ว่า “พ่อพรมแม่คำเอื้อย เป็นเก้าศรัทธาสร้างไว้ในพระพุทธศาสนาชั่วกาลนาน” (พ.ศ. ๒๓๒๕) จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ว่า “เจ้าภาดา ผู้พี่เสียชีวิตในกลางทัพ ส่วนเจ้าภาคิไนย ผู้น้องรวบรวมผู้คนที่หนีภัยสงครามมาตั้งครัวเรือนขึ้นที่บ้านป่ากล้วย” เมื่อชุมชนเริ่มเข้มแข็งจึงมีการก่อตั้งวัดประจำชุมชนขึ้น สถานที่ก่อสร้างวัดเมื่อครั้งยุคเริ่มต้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านป่ากล้วย ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งโรงเรียนบ้านพร้าวกลางในปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก จึงได้ย้ายที่ตั้งชุมชนลงไปยังที่ราบลุ่มด้านล่างคุ้งลำน้ำเปือ ไปสมทบกับชุมชนหมู่บ้าน น้ำร้อง ซึ่งเป็นบริเวณทุ่งนาในปัจจุบัน และได้ย้ายที่ตั้งวัดตามลงไป ณ ริมตลิ่งลำน้ำเปือ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสุสานบ้านกลางในปัจจุบัน