ตั้งอยู่่ที่บ้านบัว หมู่ที่ 7 ตําบลแม่กา อําเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากกว๊านพะเยาไปทางทิศใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยพะเยา บริเวณที่พบเตาเผาและ เศษเครื่องถ้วยชามอยู่ ตามที่ลาดเนินในพื้นที่เมืองโบราณ “เวียงบัว” และตามริมลําน้ำห้วยแม่ต๋ำ ในหมู่บ้าน เวียงบัว ตามไร่นา ในสวนของชาวบ้าน ก็พบเนินดินที่ตั้งเตาเผาอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดพะเยา เครื่องถ้วยชามที่พบจากเตาเผาเวียงบัวเป็นเอกลัษณ์เฉพาะตัวมีประวัติศาสตร์ยาวนาน พอๆกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดีซุกซ่อนอยู่ กระทั่งล่าสุดได้มีการค้นพบ "แหล่งเตาเผาโบราณบ้านเวียงบัว" สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 18 ซึ่งเมื่อเทียบยุคสมัยอยู่ในยุคเดียวกับสมัยพญาเจื๋อง ขุนเจื๋อง ท้าวฮุ่ง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ต้นราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา เดือนมีนาคม 2548 ได้มีการสำรวจขุดค้นเตาเวียงบัว 2 แห่ง ซึ่งพบเศษเครื่องถ้วยชามและร่องรอยโครงสร้างของเตา ผ.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี ในฐานะผู้อำนวยการขุดค้น กล่าวถึงลักษณะของเตาเวียงบัวว่า เตาที่พบและได้สำรวจขุดค้นไปแล้วนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 เตา ซึ่งพบอยู่ในบริเวณเนินดินใกล้กัน โดยพบว่าเป็นเตาแบบล้านนาชนิดเตาห้องเดี่ยว อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์โดยฝังอยู่ในเนินดิน ขนาดยาว 5 เมตรกว้าง 2 เมตร นอกจากนั้นยังพบอีกว่ามีการนำดินลักษณะคล้ายปูนสีขาวเนื้อละเอียด มีส่วนประกอบเป็นเม็ดดินแข็ง ๆ คล้ายแมงกานีส มาถมบริเวณหลังคาและรอบ ๆ ปล่อยเตา ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานโครงสร้างของเตาที่ไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อนที่แผ่อิทธิพลอยู่ในอาณาจักรเงินยาง (พะเยา – เชียงราย)