วัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ในชุมชนชาวมอญ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 6 ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เมื่อหลายร้อยปีก่อน นับจากปี พ.ศ. 2081 2084 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีการเดินทางเข้ามาอีกหลายระลอก ในช่วงสมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ อพยพเข้ามาจากเมืองหงสาวดีประเทศพม่า เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภาร มารวมอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ประกอบอาชีพสุจริต ดำเนินชีวิตอย่างสงบราบเรียบ และใฝ่ธรรมป็นปกตินิสัยของชนชาติมอญ สำหรับวัดใหญ่นครชุมน์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างมาแต่ ปีพ.ศ.ใด ตามข้อสันนิษฐานของคนเก่าแก่ในพื้นบ้านประกอบหลักฐานที่ค้นพบบางสิ่งบางประการ เชื่อว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่แห่งยุคทวาราวดี มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ซึ่งกลายเป็นวัดร้างแทบไม่เหลือซากปรักหักพังให้เห็น ต่อมาเมื่อมีชนชาติมอญอพยพเข้ามาอยู่ โดยสร้างหลักปักฐานมั่นคงแล้ว ได้สร้างวัดขึ้นใหม่ตรงที่วัดร้างเดิม แต่ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ขนาดเล็กพอให้พระอยู่อาศัยชาวบ้านได้เข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นเนื้อนาบุญอันสำคัญ โดยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านซึ่งเป็นคนมอญเป็นอย่างดี ถึงเวลาสงกรานต์มีการทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา การเล่น ตามประเพณีโบราณ ยึดมั่นไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน มีศิลปะการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด เช่น กุฏิ ศาลา อุโบสถ พระเจดีย์ เป็นศิลปะของชาวมอญอย่างสมบรูณ์แบบ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นวัดโดยถูกต้องเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2484 คณะสงฆ์สังกัดมหานิกาย