ประวัติผู้สร้างวัด จากการสืบค้นหาประวัติของการสร้างวัดศรีบุญเรืองไม่ปรากฏเอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ ยืนยันแน่ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เชื่อถือได้ วัดศรีบุญเรืองสร้างมานานกว่า ๒๐๐ ปีขึ้นไป และได้มีการเริ่มต้นบันทึกกันเริ่มที่ พญาแสนศรีขวาเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ บุตรของพญาแสนศรีขวาคือ พญาประเสริฐชนะสงครามราชภักดีต่อมา “แม่เจ้าคำป้อ” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาประเสริฐฯ ได้สมรสกับ “พระวิชัยราชา” (นามเดิมว่า ขัติ หรือเจ้าหนานขัติ) เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะซ่อมแซม และอุปการะวัดนี้มาตลอดอายุขัยของท่านทั้งสอง หากจะสันนิษฐานการสร้างวัดศรีบุญเรืองนี้ แบ่งได้ ๒ แนวทาง คือ แนวทางสถานที่ตั้งของวัด และแนวทางประวัติศาสตร์การสืบเชื้อสายของเจ้าหลวงเมืองแพร่ หลักฐานของสถานที่ตั้ง การสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยโบราณ การปกครองทางฝ่ายเหนือจะมีเจ้าผู้ครองนคร หรือเจ้าหลวงปกครองในแต่ละเมือง ภูมิประเทศที่ตั้งก็คือ คุ้มเจ้าหลวงจะอยู่ตรงกลาง สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ มีประตูเข้า – ออก ๔ ทิศด้านนอกกำแพงเมืองมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าหลวงได้สร้างบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ภายในกำแพงเมืองนั้นเรียกว่า ในเวียง ส่วนผู้อยู่นอกกำแพงเมืองออกไปเรียกว่า นอกเวียง หลังจากสร้างบ้านแปลงเมืองได้ไม่นานจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น การสร้างวัดในแต่ละวัดจะต้องมีเนื้อที่มากกว่าการสร้างบ้านเรือน ก็เลยมีความคิดที่จะสร้างอยู่ติดกับกำแพงเมือง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีจำนวน ๕ วัด คือ วัดหัวข่วง, วัดศรีชุม (วัดศรีจุม),วัดหลวง, วัดพระนอน และวัดศรีบุญเรือง สมัยก่อนทางเดินรอบกำแพงเมืองด้านในจะเป็นทางเท้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นถนนรอบเมืองเช่นปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าความเก่าแก่ของวัดทั้ง ๕ วัดนี้คงมีความเป็นมายาวนานพอ ๆ กัน