เป็นวัดอารามใน สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดเมื่อเข้าไปในบริเวณวัด จะพบศาลาเปลื้องเครื่องเป็นอันดับแรก ศาลาเปลื้องเครื่องนี้ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในสร้างฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวงเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างดงามมาก เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก อีกสิ่งหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึงคือปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย