"ตั้งอยู่บริเวณริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา อ่างทอง ตำบลวัดตูม ห่างจากตัวเมืองอยุธยา ประมาณ ๖ ๗ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นผู้สร้าง ทราบกันแต่เพียงว่าเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยเมืองอโยธยา ก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้คงเป็นวัดร้างมาครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีผู้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้งและเป็นวัดที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษามาจนทุกวันนี้ วัดตูมนี้เป็นที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามแต่ดั้งเดิมมาคงเป็นแต่แรกตั้งกรุงอโยธยาตลอดจนถึงทุกวันนี้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ พระเศียรตอนเหนือพระนลาฎ (หน้าผาก) เปิดออกได้และพระเกศมาลาถอดได้ ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอ มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อ เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สามารถรับประทานได้โดยปราศจากอันตรายใดๆ และไม่แห้งขาดหาย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่อง ปางมารวิชัย นามเดิมของท่านคือ “หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์” เรียกกันเป็นสามัญว่า “หลวงพ่อสุข” หน้าตักกว้าง ๘๗ เซนติเมตร สูง ๑.๕๐ เมตร สร้างสมัยใดไม่ปรากฎ เป็นพระทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิราชาอธิวาสสวมมงกุฎ มีกุณฑลทับทรวง สังวาลพาหุรัดประดับด้วยเนาวรัตน์ ประทับนั่งขัดสมาธิ พระพุทธรูปองค์นี้จะเปิดเศียรพระทุกวันที่ ๑ ของเดือน"