เป็นวัดที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า พระศรีเมือง แห่งทุ่งโพธิ์ทอง อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัย กรุงสุโขทัย ดูได้จากซากอิฐแนวเขตเดิมคาดว่าน่าจะเป็นวัดขนาดใหญ่ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่สองในประเทศไทยมีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) รองจากพระนอนที่ จังหวัดสมุทรปราการ เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝน อยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธา ภายในวัดมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ส่วนศาลาเอนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลบ้างก็ว่าไม่ใช่ สันนิษฐานกันตามประวัติที่ได้เล่ากันว่า เป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย และกลายเป็นที่มาของชื่อ ‘วัดขุนอินทประมูล