สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักสลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ (ปัจจุบันตัวครุฑถูกขโมยไปแล้ว) เครื่องบนเป็นไม้สักประดับด้วยรวยมอญ (ตัวไม้แกะสลักที่ทอดตัวลงมาบนหัวแปตอนหน้าจั่ว เป็นศิลปะมอญ) ตรงหุ่นนก (สามเหลี่ยม ข้างรวยมอญ) เป็นรูปราชสีห์และคชสีห์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นโบสถ์แบบมหาอุดไม่มีการเจาะฝาผนังเลย ฐานพระอุโบสถเป็นแบบตกท้องช้างหรือท้องสำเภา (การสร้างโบสถ์แบบตกท้องช้างนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางสถาปัตยกรรม คือเมื่ออากาศร้อน ความร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงอากาศเย็นจะพัดเข้าแทนที่ได้สะดวก) ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานและพระสาวก มีภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยฝีมือของสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี เรียกว่าทศชาติชาดก นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนนทบุรี ถือว่าวัดนี้เป็นวัดหนึ่ง ที่ดำเนินการอนุรักษ์โบสถ์และศิลปกรรมได้อย่างถูกวิธี จึงทำให้เป็นแหล่งวิทยาการที่น่าสนใจยิ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ บนศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอกับโบสถ์ ประดับลวดลายตกแต่งอย่างสวยงาม วัดนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้อย่างถูกต้อง เป็นที่เชิดหน้าชูตา