เป็นวัดเก่าแก่สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏ ตามคำบอกเล่าของหลวงปู่ชัยมงคล แห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่สร้างวัดบ้านพรานชื่อ นายพาน นางเงิน สองสามีภรรยา และนายกระปุกทอง ผู้เป็นบุตร ในระหว่างปี 1862–1870 ช่วงปลายกรุงสุโขทัย หลังจากนั้นวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบเป็นเวลา 100 กว่าปี ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพระพุทธรูปศิลาแลงชื่อหลวงพ่อไกรทองที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบที่วัดบ้านพรานเพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้สร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อไกรทอง” ไกรหมายถึง จีวร สังฆาฏิ สบงของหลวงพ่อไกรทอง เล่ากันต่อๆมาว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี เวลาเที่ยงคืน ไกรจะลุกเป็นไฟสว่าง โชติช่วง บอกนิมิตอันดีต่อผู้พบเห็น เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการะบูชา