"การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบกได้จัดตั้งกองพันทหารพลร่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ บ.ป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมือง จว.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2497 และได้มีวิวัฒนาการมาเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบันทั้งนี้หน่วยรบ พิเศษเป็นหน่วยทหารที่มีความสำคัญยิ่งหน่วยหนึ่งของกองทัพบกไทย มาทุกยุคทุกสมัย ในปี พ.ศ.2537 พล.อ.วิมล มลวานิช ผบ.ทบ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทหารรบพิเศษ จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษขึ้น ตั้งอยู่ที่ ค่ายวชิราลงกรณ์ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 28 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2538 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ทางทหาร และวีรกรรมของทหารรบพิเศษ ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องเอกราชของชาติ และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติทหารรบพิเศษให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดถือ เป็นแบบอย่างของความเสียสละต่อไป ภายใน พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ประกอบด้วย ห้องจัดแสดง ดังนี้ ห้อง โถง เป็นห้องจัด แสดงภประวัติความเป็นมาและภารกิจต่างๆของหน่วยรบพิเศษตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจน ถึงปัจจุบันด้วย ภาพประติมากรรมฝาผนังดินเผาด่านเกวียนนูนต่ำ สิ่งสำคัญ ประกอบด้วยประติมากรรมช้างสามเศียร""เทพเจ้าสเอราวัณ"" ภายในเศียรช้างบรรจุวัตถุมงคลรุ่นอนุรักษ์ชาติและบรรจุดินจาก 24 สมรภูมิการรบของไทย และประดิษฐานพระบรมรูป 9 มหาราชของชาติไทย ห้อง แสดงที่ 2 เป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึก ศึกษา ของหน่วยรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษในรูปแบบต่างๆ ของ โรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ห้อง แสดงที่ 3 เป็นห้องจัดแสดงประวัติการรบในยุทธการต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติการรบพิเศษของไทย และเป็นการจำลองภาพเหตุการณ์ที่ ทหารรบพิเศษได้ร่วมในการสู้รบในยุทธการต่างๆ เพื่อให้ทหารและอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบและเป็นข้อเตือนใจ ห้อง แสดงที่ 4 เป็นห้องจัดแสดงกิจกรรมที่สำคัญของพระราชวงศ์จักรี กับหน่วยรบพิเศษ ตลอดจนการรวบรวมกิจกรรมสำคัญที่หน่วยรบพิเศษ ได้มีส่วนร่วมดำเนินการมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ห้อง ปฏิบัติการใต้น้ำ เป็นห้องจัดแสดงจำลองภาพเหตุการณ์ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการ ปฏิบัติการพิเศษใต้น้ำของกองทัพไทย ด้วยการซุ่มโจมตีด้วยวิธีการวางตัวใต้ผิวน้ำ ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องได้รับการฝึกเป็นพิเศษ มีขีดความสามารถสูง มีความเข้มแข็ง อดทนทั้งร่างกายและจิตใจ และมีความเสียสละเป็นอย่างสูง ซึ่งหน่วยรบพิเศษ จะต้องริเริ่มพัฒนาการฝึกปฏิบัติการพิเศษในลักษณะต่างๆ ให้กับกำลังพลอย่างต่อเนื่อง ห้อง ปฏิบัติการใต้ดิน เป็นห้องจัดแสดงจำลองภาพเหตุการณ์และแผนการทำลายล้างในรูปแบบการ ปฏิบัติการใต้ดิน เพื่อให้กำลังพลได้ตระหนักถึงอันตรายที่ซ่อนเร้น แฝงตัวในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากความริเริ่มของฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเรา ห้อง ปฏิบัติการรบในป่า เป็นห้องจัดแสดงจำลองภาพเหตุการณ์การรบจริงที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค นานัปการ เช่น กับระเบิด,ระเบิดแสวงเครื่อง,หลุมขวาก และความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในป่า เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้กำลังพลได้ระลึกถึง ความเสียสละความกล้าหาญของทหารรบพิเศษ ที่ได้รับชัยชนะและต้องประสบกับการสูญเสีย"