เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาอายุกว่า 400 ปี ผู้ที่สร้างวัดนางกุย ชื่อ “นางกุย” เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายจึงได้สร้างวัดขึ้น ในสมัยก่อนวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยา วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่างๆ เช่น อุโบสถ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484 ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี” ปางสมาธิ และ “หลวงพ่อยิ้ม” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทองเป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมานาน จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่าสมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมี ศาลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า 400 ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณพ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อได้ให้คนมาสักการะบูชา