ความเป็นมา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า มีการอพยพของชาวมอญ เข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และในสมัยกรุงธนบุรี รวมทั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเข้ามาหลายทาง ได้แก่ ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ด่านแม่ละเมา จังหวัดตาก เข้ามาทางจังหวัดเชียงใหม่ และทางจังหวัดอุทัยธานี ชาวมอญจะพำนักอาศัยอยู่ตามริมน้ำ โดยเฉพาะบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำน้ำแม่กลอง และลำน้ำท่าจีน ไม่ทราบแน่ชัดว่า อพยพเข้ามาในสมัยใด แต่สันนิษฐานจากคำบอกเล่า ของผู้อาวุโสภายในหมู่บ้าน และจากโบราณสถาน ภายในวัดทองบ่อ คือ เจดีย์โบราณ ทำให้คาดคะเนว่า น่าจะอพยพเข้ามาอยู่ ณ ชุมชนนี้ ตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะจากคำบอกเล่าของคุณป้าภูมิ พลอยรัตน์ (ธรรมนิยาม) ว่า คุณตาฉ่ำ ธรรมนิยาม ผู้บิดาเล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษมาจากเมืองมอญ เข้ามาทางจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเดินทางเข้ามาทางเกวียน มาก่อตั้งหมู่บ้าน ในระยะมีอาชีพทำนา ค้าเกลือ เผาอิฐ ในช่วงที่อพยพเข้ามาประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ หมู่บ้านเสากระโดง เดิมเรียกกันตามภาษามอญว่า กวานปราสาท และวัดทองบ่อ ก็มีการเรียกกันแต่เดิมว่า เพียปราสาท ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นวัดทองบ่อ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในอดีต เป็นด่านขนอน (ด่านเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา) มีคำบอกเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้เรือสำเภา ในการขนส่งสินค้า และเดินทาง เกิดเหตุอัปปางลงเรือพร้อมเสากระโดง ลอยมาติดอยู่แถวหมู่บ้านนี้ จนทำให้ผู้คนผ่านไปมา เรียกหมู่บ้านว่าหมู่บ้านเสากระโดง ปัจจุบัน เสากระโดงได้เก็บรักษาไว้ ในบริเวณวัดทองบ่อ เป็นโบราณวัตถุ และสัญลักษณ์ของหมู่บ้านเสากระโดง อาชีพ เดิมประกอบอาชีพการเผาอิฐ ค้าขายเกลือ จาก ทำนา ปัจจุบันประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ พนักงานโรงงาน และอื่น ๆ ศาสนา ประชาชน ในชุมชนมอญบ้านเสากระโดง นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด มีวัดทองบ่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ผู้สูงอายุ ยังคงสวดมนต์ภาษามอญ ทำวัตรเย็นเป็นประจำทุกวัน และในวันพระยังคงถือศีลอุโบสถ ภาษา ผู้สูง อายุในหมู่บ้านยังพูดภาษามอญ สวดมนต์ภาษามอญ สำหรับผู้ที่สามารถเขียน และอ่านภาษามอญได้มีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดทองบ่อ ดำริจะจัดการสอนหนังสือภาษามอญ ให้กับเด็ก เยาวชนและผู้ที่สนใจ โดยจัดตั้งศูนย์ศึกษาภาษามอญ วัฒนธรรมประเพณี ชาวบ้านในชุมชนมอญบ้านเสากระโดง เคร่งครัดในศาสนา จะร่วมถือศีลฟังธรรม ในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งร่วมกิจกรรมทางศาสนา เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง เทศกาลออกพรรษา การเทศน์มหาชาติ รวมทั้งกิจกรรม ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ แม้ที่วัฒนธรรมได้เปลี่ยนไป ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดทองบ่อ ยังรักษาเอกลักษณ์การสวดพระอภิธรรมภาษามอญ ตลอดมา การฟื้นฟูประเพณี เจ้าอาวาสวัดทองบ่อ ร่วมกับชาวบ้าน ได้ฟื้นฟูประเพณีที่สูญหายไปประมาณ ๕๐ ปี โดยเฉพาะประเพณีแห่หงส์ –ธงตะขาบ ในเทศกาลสงกรานต์ ได้เริ่มฟื้นฟูมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี จนปัจจุบัน ประเพณีนี้ เป็นที่นิยมของชุมชนชาวมอญบ้านเสากระโดง และชาวอำเภอบางปะอิน และ ในอนาคต จะพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้รู้จักแพร่หลาย ในระดับจังหวัดต่อไป รวมทั้ง จะฟื้นฟูให้เยาวชนได้แต่งกายแบบชาวมอญ ในโอกาสงานสำคัญ ๆ ด้วย