"อยู่ในเขต หมู่ที่ 7 ตำบลซับจำปา ตั้งอยู่บนเนินดินสูงของขอบที่ราบภาคกลางที่ต่อกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมแต่เดิม ภายในเมืองมีเนินดิน 3 เนิน เข้าใจว่าคงเป็นซากโบราณสถาน หลักฐานที่พบคือกำไลหิน เศษภาชนะดินเผา ค้นพบจารึกภาษาสันสกฤต พบชิ้นส่วนและเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพิมพ์ พระหัตถ์ ธรรมจักรพร้อมเสาและกวางหมอบ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับโลหะ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี เมืองโบราณซับจำปา เป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 โดยคณะสำรวจจากกรมศิลปากร และหน่วยปราบศัตรูพืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันสำรวจบริเวณป่าบ้านซับจำปา การสำรวจพบเมืองโบราณขนาดใหญ่ ที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ต่อมาจึงได้มีนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศสนใจทำการศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเมืองโบราณซับจำปา ปรากฏการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น กำไลหิน แกนกำไลหิน กระดูกมนุษย์ และภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีอายุประมาณ 3,000 – 2,500 ปีมาแล้ว อีกทั้งโบราณวัตถุประเภทศิลาจารึกประติมากรรมรูปต่าง ๆ สันนิฐานว่าในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ชุมชนโบราณแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ศาสนา ความเชื่อ อักษร ภาษา ศิลปกรรม และพัฒนาขึ้นเป็นเมือง พื้นที่บริเวณรอบๆ มีการขุดคูน้ำเพื่อสร้างคันดินเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบชุมชน และมีกษัตริย์ปกครองเมือง"