โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี ตั้งอยู่กลางตัวเมืองกาญจนบุรี บริเวณริมถนนแสงชูโต อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ 69 ไร่เศษ เป็นที่ราชพัสดุ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มและเปิดดำเนินกิจการ ในปี พ.ศ. 2478 ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และมีความทันสมัยที่สุดในขณะนั้นผลิตกระดาษและธนบัตรใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งโครงสร้างอาคารของโรงงานกระดาษสร้างโดยช่างชาวเยอรมัน จึงมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ตัวอาคารโรงงานเป็นทรงยุโรปสมัยกลาง มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง โดยกระดาษที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ได้ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นธนบัตรและแสตมป์รุ่นแรกๆ ของไทยต่อมาประสบภาวะขาดทุน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2525 ให้ยกเลิกกิจการ จากนั้นจึงได้ให้บริษัทเอกชนเช่าประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตกระดาษจนครบสัญญาเช่า โรงงานกระดาษไทยแห่งนี้จึงมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และอยู่ในเขตที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ร่วมกับกำแพงเมือง คูเมือง เนื่องจากลักษณะอาคารสิ่งปลูกสร้างโรงงานมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรอนุรักษณ์ไว้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้จังหวัดกาญจนบุรีทราบว่าได้ยกเลิกการต่อสัญญาเช่ากับบริษัท อุตสากรรมกระดาษศิริศักดิ์ โดยให้สิ้นสุดลงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของจังหวัด และประชาชนเมืองกาญจนบุรี ที่ต้องการให้ใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะและแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านการบริหารจัดการของคณะกรรมการร่วม 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีได้เดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดกาญจนบุรี สืบเนื่องข่าวในเรื่องของการต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาชนที่จะดึงโรงงานกระดาษแห่งนี้ให้มาเป็นของสาธารณะของส่วนรวม นายกรัฐมนตรีจึงได้เดินทางมาดูสภาพพื้นที่และสนับสนุนให้โรงงานกระดาษไทย และมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้โรงงานกระดาษไทยเป็นสวนสาธารณะ และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์ (Landmark) แห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรีต่อไป วันที่ 25 เมษายน 2562 เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ท่าน เกออร์ก ชมิดท์ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันผ่านอาคาร เครื่องจักรเยอรมันสมัยคุณปู่เยอรมันภายในโรงงานกระดาษ พร้อมแลกเปลี่ยนเรื่องราวมิตรภาพในปัจจุบัน เพื่อสานแนวทางความร่วมมือระหว่างกันที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ในอนาคต ในระยะที่ผ่านมา โรงงานกระดาษไทยมีสถภาพเสื่อมโทรม แต่ตัวอาคารยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม จังหวัดกาญจนบุรีจึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเมืองเก่า โดยพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษไทย ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำการยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่กับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาญจนบุรี เพื่อให้กรมธนารักษ์พิจารณาอนุญาตต่อไป ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 จังหวัดกาญจนบุรีได้ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการปรับพื้นที่โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีให้มีความสวยงาม ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลเมืองกาญจนบุรีได้นำเครื่องจักรมาปรับพื้นที่บริเวณด้านหน้าโรงงานกระดาษ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการนำเครื่องจักรและกำลังคนมาร่วมในการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งจะมีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีการนำหญ้ามาปลูกบริเวณพื้นที่โรงงานกระดาษ ด้านหลังจะสามารถมองเห็นโรงงานกระดาษได้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการปรับปรุงอาคารและรักษาให้คงเดิมตามที่กรมศิลปากรได้กำหนดไว้